วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทความงานวิจัย






การศึกษารูปแบบการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอล 
ในเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี
                    THE  STUDY  OF  VOLLEYBALL  DEVELOPMENT  


บุญยงค์  บุญฟัก
สถาบันการพลศึกษา  วิทยาเขตชลบุรี


บทคัดย่อ
                        การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอล ในเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี  โดยใช้เทคนิคเดลฟาย  (Delphi Technique)  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย  กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับกีฬาวอลเลย์บอล  เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี  จำนวน 18 คน  
                        ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอล  เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี 
มีองค์ประกอบในการพัฒนา13    ด้านที่สำคัญ  ดังนี้  1. ด้านการจัดการแข่งขัน ควรจัดแบบแยกรุ่น   
2. ด้านระยะเวลาในการจัดการแข่งขัน  ควรจัดช่วงเดือนธันวาคม  3. ด้านหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณ ควรได้รับจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด  4. ด้านวิธีการได้มาของงบประมาณควรได้มาจากสมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรี  5. ด้านหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน ได้แก่ สมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรี  6. ด้านรูปแบบการให้การสนับสนุน  ผู้ดำเนินการหลักในการจัดการแข่งขันควรให้การสนับสนุนเรื่องชุดกีฬา อุปกรณ์ในการฝึกซ้อม อาหาร  เครื่องดื่ม และค่าพาหนะแก่ทีมที่เข้าแข่งขัน  7.  ด้านสถานที่จัดการแข่งขัน  ควรจัดที่สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี  8. ด้านองค์ประกอบของสถานที่จัดการแข่งขัน ควรประกอบด้วยห้องสุขาที่สะอาด น้ำใช้พอเพียง  9. ด้านรายการแข่งขัน ควรมีการแข่งขันในระดับเขตพื้นที่การศึกษา  10. ด้านวิธีจัดโปรแกรมการแข่งขัน  ควรจัดตามรุ่นและประเภท  หากมีหลายทีมให้จัดการแบ่งสายโดยวิธีจับฉลาก  11.  ด้านผู้เข้าชมการแข่งขัน  ประกอบด้วยนักเรียน  12. ด้านการประชาสัมพันธ์การจัดการแข่งขัน  ควรส่งหนังสือแจ้งไปที่โรงเรียนต่าง ๆ  13. ด้านการฝึกอบรมบุคลากร  ควรฝึกอบรมผู้ฝึกสอน 



Abstract                                                                                       
                        The purpose of this study was to study the model of volleyball development in Chonburi Regional Education Area by using Delphi Technique. The samples for this study comprised of 18 specialists who involved with volleyball in Chonburi Regional Education Area.
                        The results were as follow : 1. Competitive management element should be competed by classification.  2. Competitive duration element should be competed in December.  3. Fiscal supported office should be supported by Provincial Administration Division.  4. Fiscal earning procedure should be earned from Chonburi Sports Association.  5. Supporting Unit should be Chonburi Sports Association.  6. Supporting procedure, operator of competitive management should sponsor the sports clothes, training instrument, food, drinks and travel allowance of competitive team. 7. Competitive place should be in Institute of Physical Education Chonburi Campus.  8. Competitive place element should include clean toilet, enough water supply.            9. List of the competitions should be in levels of academic area.  10. Competitive programming procedure should be classified by class and category.  If there are many teams in the competition, the competition management should be in the procedure of  drawing lots.  11. Competitive audiences should include students.  12. Competition public relations should send letters to every schools.  13. Personnel training should train the trainers


1.  บทนำ
       ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้า ต้องมีการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของคนในชาติอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องในทุกด้าน การออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอเป็นกระบวนการหนึ่ง ที่จะสามารถช่วยพัฒนาคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะช่วยพัฒนาให้มีร่างกายแข็งแรง พลานามัยสมบูรณ์  ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพจิตที่ดี มีอารมณ์ที่มั่นคง สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม เพิ่มพูนสติปัญญา  เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้แก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยได้น้อมนำ     พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ภูมิพลอดุลยเดชฯ มาปรับใช้ในการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลจนได้รับความนิยมจากประชาชนทุกเพศทุกวัยอย่างแพร่หลาย และเป็นกีฬาที่ประชาชนมีความรู้มากที่สุด 1 ใน 3 ของกีฬาทั้งหมดในประเทศ ซึ่งวิวัฒนาการของกีฬาวอลเลย์บอลเริ่มมาจากความคิดของมนุษย์ที่ต้องการให้มีกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ใช้กิจกรรมเหล่านั้นเพื่อความสุข สนุกสนาน ทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรักและความสามัคคี โดยได้พัฒนาวิธีการจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ไปสู่การมีกฎกติกาที่เป็นมาตรฐานสากลขยายเครือข่ายจากจุดเริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไปสู่ประเทศในทวีปยุโรป เอเชีย และแพร่ขยายไปทั่วโลก มีการจัดการแข่งขันในทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น  เมือง ประเทศ นานาชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากีฬาชนิดนี้ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีคุณภาพ
       สำหรับในต่างประเทศ ได้มีการศึกษาปัจจัยในการพัฒนาการกีฬาเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความเจริญให้กับวงการกีฬาของประเทศนั้น ๆ ดังเช่น การศึกษาของสถาบัน Sport England ได้สรุปปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนากีฬาของประเทศอังกฤษจำนวน 6 ปัจจัย ดังนี้ 1) การดำเนินการแนวทางตามยุทธศาสตร์การพัฒนากีฬาของประเทศ  2) จำนวนประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีกิจกรรมการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาอย่างน้อย 4 ครั้ง ใน 1 เดือน  3) จำนวนประชากรที่เป็นเยาวชนที่มีกิจกรรมการออกกำลังกายและการกีฬาจำนวน 3 ชนิดกีฬาอย่างน้อย 10 ครั้งในช่วงระยะเวลา 1 ปี ซึ่งกิจกรรมนั้น ๆ จะต้องเป็นกิจกรรมนอกเวลาเรียน  4) ทัศนคติของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ต่อการจัดกิจกรรมกีฬา 5) จำนวนประชากรที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการออกกำลังกายและการกีฬาในระยะเวลา 1 เดือน และระยะเวลา 1 ปี  6) จำนวนของบุคลากรและอาสาสมัครทางการกีฬา
       ประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนากีฬาของชาติ ไว้ในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ.  2545-2549) ซึ่งประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนากีฬา 6 ยุทธศาสตร์  ดังนี้ 1) การพัฒนากีฬาขั้นพื้นฐาน 2) การพัฒนากีฬาเพื่อมวลชน 3) การพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ  4) การพัฒนากีฬาเพื่อการอาชีพ  5) การพัฒนา
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา  
6)  การพัฒนาบริหารการกีฬา 
       การบริหารจัดการทางด้านพลศึกษา เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายของมนุษย์ทุกคน เนื่องจากกลไกการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายมีสมรรถนะที่จะใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมในส่วนของตนเอง  ส่วนของสังคม และส่วนของประเทศชาติบ้านเมือง  ประเทศที่มีพลเมืองมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี จะส่งผลต่อภาพรวมในการดำเนินชีวิต ทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมดีไปด้วย โดยจะต้องมีการวางพื้นฐานที่ดีตั้งแต่เป็นเยาวชนจนถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งแนวคิดการจัดการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดไว้ว่า  การจัดการศึกษาจะต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้  กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ  และเต็มตามศักยภาพ เน้นความสำคัญทั้งความรู้  คุณธรรม ซึ่งรวมถึงความรู้ในด้านการกีฬาเป็นกระบวนการเรียนรู้  เพื่อพัฒนาความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม สร้างสรรค์จรรโลงความ ก้าวหน้าทางวิชาการ และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต 
       วรศักดิ์ เพียรชอบ กล่าวโดยสรุปว่า การจัดการเรียนรู้วิชาพลศึกษามีความแตกต่างจากวิชาอื่น ๆ ค่อนข้างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวัตถุประสงค์การเรียนรู้ สาระ และเนื้อหากิจกรรมการเรียนการสอน  ตลอดจนสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอน เพราะสนามกีฬาโรงยิมเนเซียม  คือห้องปฏิบัติการที่สำคัญของวิชาพลศึกษาและครูพลศึกษาต้องเข้าใจปรัชญาพลศึกษาและปรัชญากีฬาไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องการให้ผู้เรียนเป็นคนที่สมบูรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542 ที่ว่าการเรียนรู้ทางพลศึกษาสามารถจำแนกพฤติกรรมการเรียนรู้ คือ สอนให้ผู้เรียนรู้ว่าเล่นกีฬาแล้วได้ประโยชน์ในด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ 5 ด้าน คือ  1. สมรรถภาพทางกาย 2. ทักษะกีฬา 3. ความรู้  ความเข้าใจ  4. คุณธรรม  จริยธรรม 5. เจตคติ 
       การจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลภายในจังหวัดชลบุรี  มีบุคลากรหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องดำเนินการ วิธีการบริหารจัดการจึงมีความหลากหลาย  เกิดความคิดเห็นหลาย ๆ แนวทางทั้งด้านดีและด้านที่ต้องมีการพัฒนา  โดยได้ตั้งเป้าหมายในการวิจัยไว้ว่าไว้ว่า  กีฬาวอลเลย์บอลภายในจังหวัดจะต้องมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น  แต่ความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีต่อสภาพปัญหายังไม่สอดคล้องกัน ทำให้การพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ถ้าหากบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีโอกาสนำความคิดเห็นของตนเองมาร่วมกันหาวิธีการ  เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน  จะทำให้การพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลในจังหวัดชลบุรีประสบความสำเร็จได้สูงขึ้น ผู้วิจัยในฐานะที่มีส่วนในการเป็นดำเนินการจัดการแข่งขันวอลเลย์บอล   ในจังหวัดชลบุรีมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ได้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามาจากหลายสาเหตุ  จึงมีความสนใจที่จะศึกษารูปแบบในการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอล  ของเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรีซึ่งมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทั้งจังหวัดชลบุรี  เพื่อให้ได้ข้อมูลจากสภาพที่แท้จริง  ทั้งความคิดเห็น  และข้อเสนอแนะต่าง ๆ นำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนา  จึงมีแนวความคิดว่า  ทำอย่างไรบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกีฬากลุ่มใหญ่ที่สุดในจังหวัดชลบุรี  จะได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอล  จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้  เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลในอนาคตต่อไป
1.1  วัตถุประสงค์ของการวิจัย
        เพื่อศึกษารูปแบบในการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอล  เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี

2.  วิธีดำเนินการวิจัย     
      2.1  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
            การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยโดยใช้เทคนิคเดลฟาย  (Delphi Technique)  นำผลความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ  ที่มีบทบาทเกี่ยวกับการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอล  เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี  ได้สรุปเป็นวิธีการในการพัฒนา
       กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ใช้ในการวิจัยคัดเลือกจากผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และผู้ฝึกสอนที่นำทีมวอลเลย์บอลชนะเลิศการแข่งขันกีฬานักเรียน - นักศึกษา  จังหวัดชลบุรี  ปีการศึกษา  2549  ในรุ่นอายุ  12, 14, 16  และ 18  ปี  ทั้งทีมชายและทีมหญิง  จำนวน  18  คน  วิธีการสุ่มตัวอย่างเลือกใช้การสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง  (Purposive  Sampling)                      
      2.2  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
       การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยโดยใช้เทคนิค      เดลฟาย  ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล  3  รอบ  ดังนี้
       (1)  แบบสัมภาษณ์ในรอบที่ 1  ประเด็นเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอล  เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี จำนวน 13 ด้าน  มีลักษณะเป็นแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-structure Interview)
       (2)  แบบสอบถามในรอบที่ 2  ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถามโดยวิเคราะห์ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากการสัมภาษณ์ในรอบที่ 1 ทั้ง 13 ด้าน  ได้แก่  ด้านการจัดการแข่งขัน, ด้านระยะเวลาในการจัดการแข่งขัน, ด้านหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณ, ด้านวิธีการได้มาของงบประมาณ, ด้านหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน, ด้านรูปแบบการให้การสนับสนุน, ด้านสถานที่จัดการแข่งขัน, ด้านองค์ประกอบของสถานที่จัดการแข่งขัน, ด้านรายการแข่งขัน, ด้านวิธีจัดโปรแกรมการแข่งขัน, ด้านผู้เข้าชมการแข่งขัน, ด้านการประชาสัมพันธ์การจัดการแข่งขัน  และด้านการฝึกอบรมบุคลากร  ลักษณะของแบบสอบถามเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ คือ เห็นด้วยในข้อนั้นมากที่สุด เห็นด้วยในข้อนั้นมาก  เห็นด้วยในข้อนั้นปานกลาง  เห็นด้วยในข้อนั้นน้อย  เห็นด้วยในข้อนั้นน้อยที่สุด  ซึ่งแบบสอบถามในรอบนี้มีข้อกระทงคำถามจำนวนทั้งสิ้น  80  ข้อ
(3)  แบบสอบถามในรอบที่ 3  ใช้แบบสอบ
ถามเช่นเดียวกับรอบที่ 2  แต่ได้เพิ่มการแสดงสัญลักษณ์ของค่ามัธยฐาน (Median)  และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ (Interquartile Range) ของแต่ละข้อคำถาม  ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามในรอบที่  ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งกลุ่ม  และของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคน 
       2.3  การหาคุณภาพเครื่องมือ 
             ได้ตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity)  โดยการแนะนำ  และตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การวิจัยโดยใช้เทคนิคเดลฟาย ทั้ง  3  รอบ
       2.4  การเก็บรวบรวมข้อมูล
             เก็บข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2550  โดยผู้วิจัยได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญจำนวน  18  คน  โดยขอหนังสือราชการจากสถาบันการพลศึกษา  วิทยาเขตชลบุรี  เพื่อขอความร่วมมือในการให้ข้อมูลตามแบบสัมภาษณ์  แบบสอบถาม  พร้อมทั้งแจ้งวัตถุประสงค์และรายละเอียดของการวิจัย  และเน้นให้เห็นถึงความสำคัญในการให้ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านที่มีต่องานวิจัยในครั้งนี้  ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้ง  3  รอบด้วยตนเอง
       2.5  การวิเคราะห์ข้อมูล
             แยกการวิเคราะห์ออกเป็น  ส่วน  ดังนี้
              (1)  ส่วนที่ 1  ข้อมูลที่ได้จากแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-structure Interview) ในรอบที่ 1  ผู้วิจัยได้นำข้อมูลนั้นมาทำการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) รายข้อ  เพื่อสร้างเป็นแบบสอบถามมาตราประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale Questionnaire) และนำมาใช้ในรอบที่
         (2)  ส่วนที่ 2  ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามมาตราประมาณค่า  5 ระดับ (Rating Scale Questionnaire)  ในรอบที่ และรอบที่ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการคำนวณหาค่ามัธยฐาน  และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ของแต่ละข้อความ  เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่สอดคล้องกัน (Consensus) มาสรุปเป็นความคิดเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรูปแบบในการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอล  เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี  ตามกรอบแนวความคิดที่ได้กำหนดไว้  ส่วนข้อความใดที่ผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นต่อข้อนั้นไม่สอดคล้องกัน  คือ มีค่ามัธยฐานน้อยกว่า 3.5  และมีค่าพิสัยระหว่าง ควอไทล์มากกว่า 1.5  จะไม่นำมาวิเคราะห์  จากนั้นจะนำข้อมูลที่มีความสอดคล้องกันเสนอเป็นผลการวิจัยต่อไป

3.  ผลการวิจัย
      ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอล  ในเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี  พบว่า
       (1)  ด้านการจัดการแข่งขัน  ควรจัดแยกรุ่น  เช่น  ช่วงอายุ  แยกประเภท  เช่น  นักเรียน นักศึกษา  ประชาชน  และแยกระดับ  เช่น  ระดับเขตพื้นที่การศึกษา  ระดับอำเภอ  ระดับจังหวัด
       (2)  ด้านระยะเวลาในการจัดการแข่งขัน  ควรจัดช่วงเดือนธันวาคม 
              (3)  ด้านหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณ  ประกอบด้วย  องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี  สมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรี  เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี  เขต  1  เขต  2 และเขต  3  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  สำนักพัฒนาการท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการ  บริษัท / ห้างร้านต่าง  ๆ ในจังหวัดชลบุรี  และองค์กรรัฐวิสาหกิจ
       (4)  ด้านวิธีการได้มาของงบประมาณ  ประกอบด้วย  สมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรีจัดทำงบประมาณไว้ในแผนประจำปีทุกปีงบประมาณ  เขตพื้นที่การศึกษาชลบุรีทั้ง 3 เขตจัดทำงบประมาณไว้ในแผนประจำปีทุกปีงบประมาณ  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดทำงบประมาณไว้ในแผนประจำปีทุกปีงบประมาณ  สำนักพัฒนาการกีฬาและนันทนาการจัดทำงบประมาณไว้ในแผนประจำปีทุกปีงบประมาณ  ขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากบริษัท / ห้างร้านต่าง    ในจังหวัดชลบุรี  และของบสนับสนุนจากองค์กรรัฐวิสาหกิจ 
       (5)  ด้านหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน  ประกอบด้วย  สถาบันการพลศึกษา  สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ  สมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรี  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรีทั้ง  3 เขต องค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์การบริหารส่วนตำบล  บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการกีฬา  และการกีฬาแห่งประเทศไทย 
       (6)  ด้านรูปแบบการให้การสนับสนุน  ประกอบด้วย  แต่ละหน่วยงานควรจัดบุคลากร  เงิน  สถานที่  และอุปกรณ์เพื่อปฏิบัติหน้าที่และอำนวยความสะดวกในช่วงการฝึกซ้อมและการแข่งขัน  เชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมจัดทำแผนในการเตรียมการแข่งขัน  ผู้ดำเนินการหลักในการจัดการแข่งขันควรให้การสนับสนุนเรื่องชุดกีฬา อุปกรณ์ในการฝึกซ้อม  อาหาร  เครื่องดื่มและค่าพาหนะแก่ทีมที่เข้าแข่งขัน  และผู้ดำเนินการหลักในการจัดการแข่งขันควรจัดสรรงบประมาณค่าเบี้ยเลี้ยงให้กับทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน
       (7)  ด้านสถานที่จัดการแข่งขัน  ควรจัดการแข่งขันที่สถาบันการพลศึกษา  วิทยาเขตชลบุรี โรงเรียนชลกันยานุกูล  และสนามกีฬากลางจังหวัดชลบุรี
       (8)  ด้านองค์ประกอบของสถานที่จัดการแข่งขัน  ประกอบด้วย  มีสถานที่พักสำหรับนักกีฬา   มีลานจอดรถกว้างขวาง  มีห้องสุขาที่สะอาด น้ำใช้พอเพียงอยู่ใกล้แหล่งชุมชน  สะดวกในการคมนาคม มีความปลอดภัย  เป็นอาคารที่มีหลังคาและสถานที่นั่งชม  มีอุปกรณ์และสนามสำรองเพื่อฝึกซ้อมรอการแข่งขัน  อาคารสำหรับใช้ในการจัดการแข่งขันควรมีอากาศถ่ายเทได้ดีและสะอาด และมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบขณะพักการแข่งขัน   
       (9)  ด้านรายการแข่งขัน ประกอบด้วย  การแข่งขันระดับองค์กรท้องถิ่นเพื่อให้เยาวชนและประชาชนได้ใช้กีฬาเป็นการออกกำลังกาย  การแข่งขันระดับอำเภอ เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนของอำเภอ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา  เพื่อให้นักเรียนได้นำทักษะที่เรียนมาใช้ปฏิบัติจริง  ระดับจังหวัด  เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนของจังหวัด  การแข่งขันขององค์กรเอกชน เช่น บริษัท / ห้างร้าน / เพื่อสนับสนุนกีฬาสุขภาพ และประชาสัมพันธ์สินค้า  และการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เยาวชน  และประชาชน ได้ออกกำลังกายและพัฒนาให้เป็นเลิศทางด้านกีฬาวอลเลย์บอล 
       (10)  ด้านวิธีจัดโปรแกรมการแข่งขัน  ประกอบด้วย  แข่งขันตามรุ่นและประเภท  หากมีหลายทีมให้จัดการแบ่งสายโดยวิธีจับฉลาก  จัดแบบเหย้า เยือน  แข่งขันตามรุ่นและประเภท  โดยจัดให้มีการพบกันหมดทุกทีม  แข่งขันตามรุ่นและประเภท  โดยจัดให้พบกันหมด  และคัดทีมที่มีคะแนนสูงสุดมาแข่งขันในรอบ  ซึ่งจัดแข่งแบบแพ้คัดออก  และจัดแข่งขันตามแบบมาตรฐานสากล 
       (11)  ด้านผู้เข้าชมการแข่งขัน  ประกอบด้วย  นักเรียน  นักศึกษา  บุคลากรในแต่ละโรงเรียน  หน่วยงานต่าง ๆ  และประชาชนทั่วไป      
       (12)  ด้านการประชาสัมพันธ์การจัดการแข่งขัน  ประกอบด้วย  ออกระเบียบการแข่งขันและรับสมัครให้เสร็จก่อนการแข่งขัน  ติดป้ายประชาสัมพันธ์ตามสถานที่ต่าง ๆ  ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ ต่าง    เช่น  วิทยุ  โทรทัศน์  หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ และโปสเตอร์  ส่งหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนต่าง ๆ  และส่งหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานภาครัฐ  และเอกชน    
       (13)  ด้านการฝึกอบรมบุคลากร  ประกอบด้วย  ผู้ฝึกสอน  (โค้ช)  ผู้ตัดสิน  ผู้จัดการทีม  ผู้ควบคุมทีม  คณะกรรมการที่ดำเนินการจัดการแข่งขัน  อบรมทั้งทฤษฎีและให้มีโอกาสปฏิบัติจริง อบรมเกี่ยวกับหลักในการฝึกซ้อม  อบรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬา  และอบรมเกี่ยวกับกฎ  กติกา   ในการแข่งขัน
      3.1  ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัย
            ผลจากการวิจัยครั้งนี้  มีข้อเสนอแนะเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอล  เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี  ดังต่อไปนี้
            (1)  ด้านการจัดการแข่งขัน  ควรจัดแข่งขันแบบแยกรุ่น  แยกประเภท  และแยกระดับ 
            (2)  ด้านระยะเวลาในการจัดการแข่งขัน  ควรจัดแข่งขันช่วงเดือนธันวาคม  
            (3)  ด้านหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณ  ควรได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด  องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น  และสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ
            (4) ด้านวิธีการได้มาของงบประมาณ  งบประมาณควรได้มาจากสมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรี  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  และสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ
            (5)  ด้านหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน  ได้แก่  สมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรี  สถาบันการพลศึกษา  และสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ 
            (6) ด้านรูปแบบการให้การสนับสนุน  ผู้ดำเนินการหลักในการจัดการแข่งขันควรให้การสนับสนุนเรื่องชุดกีฬา อุปกรณ์ในการฝึกซ้อม  อาหาร เครื่องดื่ม  และค่าพาหนะแก่ทีมที่เข้าแข่งขัน  ค่าเบี้ยเลี้ยงให้กับทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน  และควรจัดบุคลากร  สถานที่  และอุปกรณ์  เพื่อปฏิบัติหน้าที่และอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อมและการแข่งขัน 
      (7)  ด้านสถานที่จัดการแข่งขัน  ควรจัดที่สถาบันการพลศึกษา  วิทยาเขตชลบุรี  สนามกีฬากลางจังหวัดชลบุรี  และโรงเรียนชลกันยานุกูล
      (8)  ด้านองค์ประกอบของสถานที่จัดการแข่งขัน  ควรประกอบด้วยห้องสุขาที่สะอาด น้ำใช้พอเพียง  ปลอดภัย  และเป็นอาคารที่มีหลังคาและสถานที่นั่งชม 
      (9)  ด้านรายการแข่งขัน ควรมีการแข่งขันในระดับเขตพื้นที่การศึกษา   การแข่งขันระดับอำเภอ และระดับจังหวัด 
      (10)  ด้านวิธีจัดโปรแกรมการแข่งขัน  ควรจัดโปรแกรมการแข่งขันตามรุ่นและประเภท  หากมีหลายทีมให้จัดการแบ่งสายโดยวิธีจับฉลาก  จัดแข่งขันตามแบบมาตรฐานสากล  และจัดแบบ
เหย้า เยือน
       (11)  ด้านผู้เข้าชมการแข่งขัน  ประกอบด้วยนักเรียน  นักศึกษา  และบุคลากรในแต่ละโรงเรียน / หน่วยงานต่าง ๆ
      (12)  ด้านการประชาสัมพันธ์การจัดการแข่งขัน  ควรส่งหนังสือแจ้งไปที่โรงเรียนต่าง ๆ  ออกระเบียบการแข่งขันและรับสมัครให้เสร็จก่อนการแข่งขัน  และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น  วิทยุ โทรทัศน์  หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ และโปสเตอร์    
          (13)  ด้านการฝึกอบรมบุคลากร  ควรฝึกอบรมผู้ฝึกสอน  อบรมเกี่ยวกับกฎ  กติกา  และอบรม  ผู้ตัดสิน 
        3.2  ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
               (1)  เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรีควรนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการจัดการแข่งขันตามความเหมาะสมกับสภาพความต้องการในระดับ   ต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
               (2)  ควรบริหารจัดการงบประมาณให้เพียงพอในการดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลในเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชลบุรี
               (3)  ควรระดมทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านกีฬาวอลเลย์บอลมาช่วยพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลให้ประสบผลสำเร็จตามความต้องการของท้องถิ่น
               (4)  จังหวัดชลบุรีควรประสานขอความร่วมมือสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์จากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน  เพื่อใช้ในการดำเนินการแข่งขันให้เพียงพอ
        3.3  ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
              (1)  ควรศึกษาเปรียบเทียบมาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลในระดับจังหวัดชลบุรีกับการแข่งขันในระดับชาติ
              (2) ควรศึกษาการสนับสนุนด้านงบประมาณกับผลสัมฤทธิ์ในการจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลในจังหวัดชลบุรี    



4.  กิตติกรรมประกาศ
งานวิจัยฉบับนี้สำเร็จได้ด้วยดี จากความกรุณาในการให้คำปรึกษา แนะนำแนวทาง ตรวจสอบเครื่องมือ ตลอดจนการแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ อย่างดียิ่งจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.เจริญวิชญ์  สมพงษ์ธรรม หัวหน้าภาควิชาบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา                 รองศาสตราจารย์ ดร.ไพรัตน์ วงษ์นาม อาจารย์ประจำภาควิชาวิจัยและวัดผลการศึกษา              คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ให้คำปรึกษาแนะนำการวิเคราะห์ทางด้านสถิติที่ใช้ในงานวิจัย  อาจารย์มาโนช เมืองใย รองผู้อำนวยการสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 1 อาจารย์วันใหม่  ประพันธ์บัณฑิต สถาบันการ     พลศึกษา  วิทยาเขตชลบุรี ที่ช่วยให้ข้อเสนอแนะด้วยความจริงใจ ผู้วิจัยรู้สึกซาบซึ้ง  และขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้
ขอขอบคุณนายประเวศ  คำหงส์  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 1            นายสมยศ  ศิริบรรณ  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 2  ดร.สุเทพ  ชิตยวงษ์  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี   เขต 3  และบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 1  เขต 2 และเขต 3 ที่ให้ความอนุเคราะห์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยครั้งนี้อย่างดียิ่ง  และขอขอบคุณเจ้าของเอกสารและงานวิจัยต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยได้นำมากล่าวอ้าง สนับสนุนในการทำวิจัยในครั้งนี้                                           
ขอบคุณนายวิชัย  ศรีตะปัญญะ รองอธิการบดีสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี และ           นางวาสนา มั่งคั่ง รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์  สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี ที่ช่วยให้คำปรึกษา การทำวิจัยในครั้งนี้


บรรณานุกรม

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.  แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ  ฉบับที่  3  (พ.ศ. 2545-2549).  กรุงเทพมหานคร
: นิวไทยมิตรการพิมพ์ (1996), 2544.   
กระทรวงศึกษาธิการ.  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542.  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การ
รับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์, 2546.


ชาญชัย  ชอบธรรมสกุล.  การพัฒนารูปแบบการประเมินคุณภาพโปรแกรมพลศึกษาสำหรับโรงเรียน
                        มัธยมศึกษา.  วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาพลศึกษา  คณะครุศาสตร์
                        จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.
ถนอมวงศ์  กฤษณ์เพ็ชร์.  การกีฬาในปัจจุบันกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน,  วารสารสุขศึกษา  พลศึกษา
และสันทนาการ.  30 : (38-50) ;  กรกฎาคม ธันวาคม  2547.
นิติมา  เทียนทอง.  ภาวะผู้นำของผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาในทศวรรษหน้า.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต
สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  มหาวิทยาลัยบูรพา, 2544.
น้อม  สังข์ทอง.  การจัดการแข่งขันกีฬา (ฉบับปรับปรุงใหม่).  กรุงเทพมหานคร : การผลิตเอกสารและตำรา
กลุ่มงานส่งเสริมและประกันคุณภาพการศึกษา  มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2543. 
สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ. การศึกษาสภาพและปัญหาการดำเนินงานกิจการนันทนาการใน
                        จังหวัดภาคเหนือ.  กรุงเทพมหานคร : สำนักส่งเสริมและพัฒนานันทนาการ, 2549
Mauricio, C.  Do Professional sport franchises and professional sport stadiums have any effect
on employment in a city. Dissertation Abstracts.  1999.
Pitter, R.  The state and sport development in Alberta : conflict, corporation and change.
                        Dissertation Abstracts.  1993.